โลกทัศน์คือชุดความคิดที่ได้รับอิทธิพลมาจากกระบวนการคิดในจิตใจ ซึ่งประกอบไปด้วย ความเชื่อ ค่านิยม และแนวความคิด โลกทัศน์เป็นตัวขับเคลื่อนพฤติกรรม เพราะฉะนั้นหากเราสามารถปรับเปลี่ยนมุมมองทางความคิด พฤติกรรมและวิธีการใช้ชีวิตของเราก็จะเปลี่ยนไปโดยอัติโนมัติ เมื่อมุมมองหรือโลกทัศน์เราเปลี่ยน ตัวมนุษย์เองก็จะมีความกล้าหาญที่จะยืนหยัดต่อสู้กับวัฒนธรรมความเคยชินเดิมที่เคยยึดถือ ยอมรับ หรือปฏิบัติ ซึ่งหลายอย่างเป็นตัวขัดขวางการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงที่ดีของชีวิต
ครอบครัวของ เด็กชายอรรถวิท หรือ น้องบละเย คือหนึ่งในครอบครัวจาก จ.แม่ฮ่องสอน ที่ได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิศุภนิมิตฯ ผ่าน โครงการอุปการะเด็ก ด้วยสถานภาพครอบครัวค่อนข้างยากลำบาก มีต้นทุนชีวิตน้อย เป็นผลให้พวกเขาขาดแรงบันดาลใจ ไร้ความหวังในการพัฒนาและสร้างการเปลี่ยนแปลงชีวิต ด้วยมองว่าข้อจำกัดต่างๆ บีบคั้นทำให้ยากที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่านี้ได้
พ่อพนา พ่อของน้องบละเย อายุ 47 ปี กล่าวว่า “ครอบครัวผมยากจน เป็นเพียงเกษตรกรปลูกข้าว และปลูกข้าวโพด โดยจะปลูกข้าวไว้กินเอง ส่วนข้าวโพดจะปลูกขายผลผลิต และจะรับจ้างทั่วไปบ้าง รายได้ที่ได้ก็น้อยแทบไม่พอใช้ เพราะรายได้หลักคือข้าวโพด ซึ่งทั้งปีจะได้ขายเพียงครั้งเดียว แถมยังต้องใช้หนี้ค่าปุ๋ย ยา สารเคมีทางการเกษตรอีก เพราะไม่มีเงินทุนในการทำเกษตร รายได้แทบจะไม่มีเลยในตลอดทั้งปี และคงไม่เหลือพอที่จะทำให้ครอบครัวดีขึ้นกว่านี้ แต่ก็ยังดีที่มีข้าวไว้กินเอง ทุกวันตื่นเช้า ก็คิดเพียงว่าวันนี้จะมีใครจ้างให้ทำงานไหม จะหารายได้จากไหน จะได้เงินเท่าไหร่ มีเงินพอให้ลูกไปโรงเรียนหรือเปล่า และคิดอยากจะมีเงินทุนในการเกษตร โดยหวังว่าผลผลิตข้าวโพดในรอบนี้จะได้ราคาดีและจะมีเงินเหลือจากการใช้หนี้มาใช้ในครอบครัว และมีเงินเหลือมาลงทุนในครั้งต่อไปโดยไม่ต้องไปกู้เงินหรือยืมเงินใคร แต่ก็ไม่รู้อนาคตจะเป็นอย่างไร”
แต่แล้วจุดเปลี่ยนของครอบครัว พ่อพนา และ น้องบละเย ก็มาถึง เมื่อเขาได้มีโอกาสรับคำเชิญจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิศุภนิมิตฯ ให้เข้ารับการอบรม หลักสูตรการวางแผนเสริมพลังชีวิตครอบครัว (Empower Worldview) ที่มูลนิธิศุภนิมิตฯ โครงการพัฒนาฯ แม่ฮ่องสอน ได้ดำเนินการขึ้น
พ่อพนา ได้รับการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์และมุมมองต่อการดำเนินชีวิต เกิดความตระหนักและแรงบันดาลใจในการพัฒนาชีวิตครอบครัว ด้วยการพึ่งตนเองบนพื้นฐานของบริบทและทรัพยากรที่มีในชุมชน เพื่อให้ชีวิต ครอบครัว และชุมชน ได้รับการเปลี่ยนแปลงสู่ความอยู่ดีมีสุข
พ่อธนา ยังได้มีโอกาสเข้ารับการ อบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องเกษตรธรรมชาติ (ความหลากหลายของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ รวมถึงการเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อเพาะปลูก) โดยได้รับการสนับสนุนไก่พันธุ์ไข่เพื่อเป็นแหล่งอาหารในครัวเรือน และเป็นทุนตั้งต้นประกอบอาชีพเสริมให้กับครอบครัวด้วย
“ตอนนี้ผมและครอบครัวมีความสุข ความหวัง และกำลังใจในการดำเนินชีวิตมากขึ้นกว่าแต่ก่อนครับ ผมวางแผนไว้ว่านอกจากการเลี้ยงไก่ไข่แล้ว หากผมเก็บเงินได้สักก้อน ผมจะนำเงินไปลงทุนซื้อเมล็ดพันธุ์ผัก ซื้อพันธุ์ปลา และหมูเพิ่มเติม นอกจากจะเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารในครอบครัวแล้ว ยังเป็นช่องทางเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวของผมด้วยครับ” พ่อพนา กล่าว
ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงและค่อยๆ เห็นความอยู่ดีที่มาพร้อมความสุขทีละน้อย “ผมดีใจมากครับที่ได้รับไก่พันธุ์ไข่มาเลี้ยง นอกจากผมจะมีไข่กินทุกวันแล้ว พ่อและแม่ยังมีเงินเก็บจากการขายไข่ไก่เอามาซื้อขนมและของใช้ให้ผมได้ด้วย โตขึ้นผมจะช่วยพ่อเลี้ยงไก่และทำเกษตรเป็นรายได้เสริมต่อไปครับ ขอบคุณครับ”ด.ช.อรรถวิท หรือ น้องบละเย อายุ 10 ปี
แม้จะเป็นคำกล่าวสั้นๆ ประสาเด็ก แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงการมีอาหารที่เพียงพอสำหรับการบริโภคในครอบครัว และยังบอกให้เราได้ทราบด้วยว่า… ครอบครัวเล็กๆ นี้กำลังขวนขวายทำกินโดยใช้ต้นทุนเริ่มต้นที่ได้รับมาจากการอุปการะเด็กของท่าน