“น้ำ” ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต และการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แม้ในปัจจุบันคนไทยจะสามารถเข้าถึงน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากข้อมูลสถิติ อาทิ สัดส่วนสมาชิกในครัวเรือนที่ใช้น้ำดื่มจากแหล่งน้ำสะอาดที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 98 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 99.5 ในปี 2562 และสัดส่วนสมาชิกในครัวเรือนที่ใช้ส้วมที่ถูกสุขอนามัยและไม่ได้ใช้ร่วมกับครัวเรือนอื่น อยู่ที่ร้อยละ 97.1 (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายชุมชนห่างไกลบนดอยสูง ที่ยังคงเผชิญกับความยากลำบากจากการขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพและการมีสุขาภิบาลที่ดี
ด้วยเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนดอยสูง การเดินทางเข้าถึงยากลำบาก ทำให้ชาวบ้านที่หมู่บ้านห้วยหก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ต้องพึ่งพาตนเองด้วยการหาแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อการดำรงชีวิต แต่ด้วยระยะหลังจำนวนประชากรในชุมชนเพิ่มมากขึ้น ความสมบูรณ์ของธรรมชาติลดลง ทำให้หลายปีที่ผ่านมา ชุมชนมักประสบปัญหาน้ำไม่เพียงพอต่อการใช้งาน โดยเฉพาะในฤดูแล้ง
“นับตั้งแต่ ปี 2557 ที่เราเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านห้วยหก ตอนนั้นหมู่บ้านของเรามีประชากรแค่ประมาณ 300 คน มีครัวเรือนอาศัยเพียง 56 ครัวเรือน เราก็ได้เริ่มมีการทำระบบน้ำประปาภูเขาซึ่งเพียงพอสำหรับการใช้งานในขณะนั้น จนถึงตอนนี้ ประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 700 กว่าคน ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 106 ครัวเรือน ทำให้ตาน้ำเดิมที่เรานำมาใช้ไม่เพียงพอต่อความจำเป็น โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้งน้ำจะแห้งและไหลน้อย เป็นความลำบากของทุกคนในชุมชน ซึ่งรวมไปถึงเด็กนักเรียนในโรงเรียนบ้านห้วยหกด้วยครับ” นายกันตพงศ์ รุ่งนภาศิริวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านห้วยหก เล่าถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคและบริโภค
เพราะเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก ครอบครัว และชุมชน เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาด และการมีสุขาภิบาลที่ดี มูลนิธิศุภนิมิตฯ โครงการพัฒนาฯ จ.เชียงราย ได้ร่วมกับผู้นำชุมชน โรงเรียน และชาวบ้านในชุมชน ดำเนิน โครงการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ปรับปรุงระบบน้ำ (ประปาภูเขา) เพื่อการสุขาภิบาลและสุขอนามัยให้กับชุมชน จัดหาแหล่งน้ำใหม่ที่มีปริมาณเพียงพอต่อความจำเป็นในการใช้งาน รวมถึงการสร้างฝายทดน้ำพร้อมวางท่อลำเลียงน้ำระยะทางยาวกว่า 4 กิโลเมตรสู่หมู่บ้าน
นอกจากนี้ มูลนิธิศุภนิมิตฯ ยังได้ดำเนินงาน โครงการก่อสร้างสถานที่เก็บน้ำและปรับปรุงระบบน้ำในโรงเรียน ก่อสร้างที่เก็บน้ำขนาด 50 ลูกบาศก์เมตร และปรับปรุงระบบน้ำในโรงเรียน แก้ไขปัญหาเรื่องน้ำอุปโภคบริโภคในโรงเรียน และเป็นจุดพักน้ำก่อนกระจายน้ำใช้ไปยังชุมชน
ในการดำเนินงานโครงการฯ มูลนิธิศุภนิมิตฯ ยังได้มีการทำกิจกรรมสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการเข้าถึงน้ำสะอาดของชุมชน พร้อมส่งเสริมให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อให้ทุกคนในชุมชนเห็นความสำคัญและร่วมกันดูแลรักษา ตลอดจนเกิดแนวคิดในการร่วมกันพัฒนาและแก้ไขปัญหาอื่นๆ ในชุมชนต่อไป ทั้งนี้ ชาวบ้านห้วยหกได้เข้ามามีส่วนร่วมดำเนินงานตั้งแต่การสนุนแรงงาน ค่าขนส่งสินค้า และค่าวัสดุอุปกรณ์บางส่วน และยังได้มีการวางแผนการดูแลรักษา โดยทุกครัวเรือนในชุมชนยินดีที่จะสนับสนุนงบประมาณครัวเรือนละ 250 บาท/ปี เพื่อจัดสรรเป็นกองทุนเพื่อการดูแลและซ่อมบำรุงระบบน้ำ ให้โครงการฯ สามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างยั่งยืน
นายณัฐพล ศรีวิชัย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยหก กล่าวว่า “ถือเป็นความโชคดีของโรงเรียนที่มีผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง และมูลนิธิศุภนิมิตฯ สนับสนุนโรงเรียนเป็นอย่างดี จากการดำเนินโครงการฯ เด็กนักเรียนของเรา คือ ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงที่ได้มีน้ำเพื่อใช้ในโรงเรียนอย่างเพียงพอ และยังสามารถแบ่งปันไปสู่ชุมชน นอกจากนั้นนักเรียนของเรายังได้มีโอกาสเรียนรู้และเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะทรัพยากรน้ำที่ได้มาจากการมีป่าไม้ในชุมชน”
จากการดำเนินโครงการฯ ซึ่งได้รับการอุปการะจากผู้บริจาคและผู้สนับสนุน ตอนนี้เด็กๆ นักเรียนในโรงเรียนบ้านห้วยหก กว่า 100 คน และชาวบ้านกว่า 700 คน มีความสุขและสุขภาพที่ดีจากการมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ นอกจากนั้นเด็ก และทุกคนในชุมชน ยังได้รับการปลูกฝังให้เห็นความสำคัญ หวงแหน และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งเป็นต้นทุนของน้ำสะอาด เพื่อให้คงอยู่และหล่อเลี้ยงชุมชนได้อย่างยั่งยืนต่อไป
มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เรามีเป้าหมายในการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็ก ครอบครัว และชุมชนในพื้นที่ห่างไกลและยากลำบาก สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 6 เพื่อสร้างหลักประกันว่าจะให้มีการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคน และมีการบริหารจัดการที่ยั้งยืน โดยในปี 2023 ที่ผ่านมา มีเด็ก ครอบครัว และชุมชน จำนวนกว่า 31,200 คน ได้เข้าถึงน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภค บริโภค ผ่านการดำเนินการปรับปรุงระบบน้ำสะอาดและการสุขาภิบาลในโรงเรียนขนาดเล็ก การแก้ไขปัญหาแห่งน้ำอุปโภคบริโภค และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในชุมชน