มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพิ่มขีดความสามารถแก่ผู้โยกย้ายถิ่นเรื่องกลไกการส่งต่อรายกรณี และถอดบทเรียนโครงการเพื่อพัฒนาแนวทางการช่วยเหลือ สร้างการรับรู้ให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 6–8 ธันวาคม 2023 ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยกลุ่มภาครัฐ และกลุ่มอาสาสมัครเพื่อร่วมหารือประเด็นเชิงนโยบาย การปฏิบัติ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือประชากรข้ามชาติ ตลอดจนพัฒนารูปแบบความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาครัฐ เพื่อส่งเสริมให้ประชากรข้ามชาติสามารถเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุข และได้รับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน ภายใต้ “โครงการการตอบสนองความต้องการของผู้ย้ายถิ่นกลุ่มเปราะบางภายใต้กรอบมนุษยธรรม การพัฒนา และสันติภาพ (HDPN) ในประเทศไทย” ดำเนินงานโดยมูลนิธิศุภนิมิตฯ และ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) โดยการสนับสนุนจาก รัฐบาลญี่ปุ่น
คุณปัณณวัฒน์ เถื่อนกลิ่น นักบริหารงานวิจัย สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการจัดโครงการในครั้งนี้ว่า “วันนี้จะมี 2 กลุ่มหลักคือเจ้าหน้าที่รัฐ และกลุ่มอาสาสมัครแรงงานต่างชาติ เพื่อที่จะให้เขาดูว่าในประเด็นแรงงานข้ามชาติเขาเห็นภาพอะไรบ้าง อีกทั้งร่วมแชร์ประสบการณ์ของแต่ละบุคคล แต่ละหน่วยงานที่เกิดขึ้น เพื่อนำมาผสานให้เกิดเป็นภาพเดียวกัน มีทางออกร่วมกันอย่างไร ประเด็นที่น่าสนใจที่ทั้ง 2 กลุ่มมองตรงกันคือเรื่อง การเพิ่มเติมความรู้ เรื่องกฎหมาย เรื่องการเข้าถึงสิทธิต่างๆ ที่แรงงานควรจะได้”
ไฮไลต์สำคัญของการประชุมในครั้งนี้คือการร่วมกันระดมความคิด ถกประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ ถึงความรุนแรงและความแร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา โดยขอยกตัวอย่างเสียงสะท้อนจากกลุ่ม อาสาสมัครแรงงานต่างชาติ หรือ อสต. ที่ได้มาร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา
“ที่โรงพยาบาลแม่สอดมีล่ามเถื่อน ที่เรียกว่าล่ามเถื่อน เพราะเขาเป็นล่ามให้คนไข้และเก็บตังค์จากคนไข้เยอะ แทนที่คนไข้จะได้จ่ายตังค์ค่ารักษาพยาบาลแต่ต้องมาจ่ายให้ล่าม หนูเลยได้ไปอยู่ในฝ่ายการเงิน เพื่อเป็นล่ามแปลภาษาให้ระหว่างคนไข้กับโรงพยาบาล มีเคสหนึ่งเขาพูดพม่าได้อย่างเดียว แล้วมาเจอล่ามเถื่อน คนไข้ต้องซื้อทั้งข้าว ซื้อน้ำ และให้เงินล่ามเป็นหลายวันเลย พอมาบอกทีหลังเราก็ช่วยอะไรไม่ได้” น้องวิ อู่ไนจา อสต. อ.แม่สอด จ.ตาก
ด้าน น้องชู แอซู อสต. อ.แม่สอด จ.ตาก ที่ต้องลงพื้นที่ไปหาคนไข้ในพื้นที่แม่สอด เล่าให้ฟังว่า “เราช่วยได้ก็ไปแจกมุ้ง แจกน้ำมัน ผงซักฟอก แต่จริงๆ คนที่อยู่ในพื้นที่ละแวกนั้นไม่มีคลินิก ถ้าเจ็บป่วยขึ้นมาจะมีหมอจากคลินิกแม่ตาว มาทุกวันศุกร์ สัปดาห์ละครั้ง ซึ่งค่อนข้างไกล ผมเลยคิดว่าถ้าเราแจกยาสามัญประจำบ้านให้เขาเลยน่าจะดีกว่า เพื่อช่วยรักษาและบรรเทาอาการเบื้องต้น”
ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐเองก็มองถึงปัญหาด้านของการสื่อสาร การประสานงานเป็นปัญหาการดำเนินงานในระดับต้นๆ และด้วยกลไกการทำงานของมูลนิธิศุภนิมิตฯ มีส่วนช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น ทั้งการช่วยประสานงานระหว่างหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ตลอดจนการทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้แรงงานทราบถึงสิทธิต่างๆของตนในภาษาต่างๆ
คุณปัณณวัฒน์ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “อีกสิ่งที่น่าสนใจคือ การเชื่อมโยงความรู้ระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐ และกลุ่มอาสาสมัคร ครั้งนี้มันคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้หน่วยงานต่างๆ ได้มีโอกาสรับรู้การทำงานของแต่ละหน่วยงาน เขาเห็นความเชื่อมโยงมากขึ้นโดยมีมูลนิธิศุภนิมิตฯ เป็นตัวกลางและกระจายแนวทางการแก้ไขปัญหาไปให้ตรงจุด”