มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิรักษ์ไทย ตัวแทนภาคประชาสังคมผู้รับทุนหลักจากกองทุนโลก (Global Fund) ในการดำเนิน โครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ ประจำปี พ.ศ. 2567-2569 (Stop TB and AIDS through RRTTPR year 2024-2026) ด้วยชุดบริการ RRTTPR (Reach-Recruit-Test-Treat-Prevention-Retain เข้าถึง-นำพา/ส่งต่อ-ตรวจวินิจฉัย-รักษา-ป้องกัน-คงอยู่ในระบบ) เป็นกรอบการทำงาน เพื่อบรรลุเป้าหมายในการดำเนินโครงการ นอกจากนี้มูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้สนับสนุนให้มีการบูรณาการโดยชุมชนเพื่อให้เกิดการบริการสุขภาพที่เป็นมิตรแก่กลุ่มประชากรหลัก สร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนให้ระบบของชุมชน และขจัดอุปสรรคด้านสิทธิมนุษยชนและเพศสภาวะในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ด้วยการสร้างกลไกในการสนับสนุนชุดความรู้ที่สำคัญ เทคนิคการทำงาน และการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย เพื่อให้กลุ่มประชากรหลัก เช่น กลุ่มประชากรข้ามชาติชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย บุคคลข้ามเพศ พนักงานบริการและคู่ สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพด้านวัณโรคและเอชไอวีอย่างเท่าเทียม โดยภาคีเครือข่ายผู้รับทุนรองที่ดำเนินงาน ได้แก่ มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธ์ (MAP) ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเล (STM) องค์การอไลท์ (ALIGHT) ศูนย์วิจัยมาลาเรียโซโกล คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล (SMRU) มูลนิธิดรีมลอปเม้นท์ (DLP) มูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลาย (FAIR) และ มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) ต่างเป็นแกนนำสำคัญในการขับเคลื่อนงานในครั้งนี้
ล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2024 ที่ผ่านมา มูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานและผลการปฎิบัติงานที่เป็นเลิศประจำไตรมาสที่ 1 เพื่อให้ผู้รับทุนหลัก ผู้รับทุนรอง และภาคีเครือข่ายผู้ร่วมดำเนินงานได้สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของโครงการฯ ตลอดจนการแบ่งปันบทเรียนที่ได้รับจากการดำเนินงาน
การเข้าไปเริ่มทำความรู้จัก พูดคุย คือกลยุทธ์ขั้นต้นในการทลายกำแพง เช่นเดียวกับวิธีการของ คุณฮักเมือง (HURK MUNG) ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธ์ (MAP) จ.เชียงใหม่ ผู้ผันตัวจากแรงงานข้ามชาติมาเป็นผู้ประสานงานเพื่อช่วยเหลือพี่น้องร่วมชาติ แบ่งปันถึงแนวทางในการดำเนินงานว่า “เจ้าหน้าที่ของเราส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติเหมือนกัน เราจึงเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายแต่ก็มีความท้าทายพอสมควรเหมือนกัน เพราะแรงงานข้ามชาติพอมาอยู่ที่นี่ ถ้าเขาเปิดเผยว่าเป็นผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีหรือวัณโรค ก็กลัวว่านายจ้างและคนรอบข้างจะรู้ กลัวตกงาน เราจึงสร้างพื้นที่อุ่นใจสำหรับผู้ติดเชื้อให้มารวมกลุ่มกัน เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน อีกด้านเราจะปรับทัศนคติในชุมชนทำกิจกรรมร่วมกัน ลดการตีตราทางสังคม สร้างชุมชนให้ตระหนักว่าเราสามารถอยู่ร่วมกันกับผู้ติดเชื้อได้”
ในช่วงไตรมาสที่ 2 ได้เริ่มมีการทำแผนที่ชุมชน เพื่อประเมินความต้องการของชุมชนแบบมีส่วนร่วมเพื่อให้เข้าถึงประชากรข้ามชาติมากยิ่งขึ้นทั้งในสถานที่ทำงาน ที่พักอาศัย สอดคล้องกับที่ คุณนาตยา เพชรัตน์ ผู้จัดการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเล จ.สงขลา สะท้อนถึงการทำงานว่า “ตอนนี้เราทำแผนที่ของกลุ่มเป้าหมายผู้รับบริการจากเราว่าเขาเป็นใคร อยู่ที่ไหน พร้อมกับการทำงานร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ รวมถึงแกนนำแรงงานที่อยู่ในกลุ่มประชากรทั่วไปและกลุ่มที่เปิดเผยตัวตนกับเรา พร้อมกับการทำงานกับหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งนี้เราต้องกลับมาดูที่แกนนำของเราด้วยว่าเขามีความรู้ความเข้าใจอย่างไรกับงานที่เราทำ เราก็ต้องเพิ่มเติมศักยภาพไห้กับคนของเราด้วยจึงมีการพูดคุย วิเคราะห์ ประเมินความเสี่ยงกันเป็นระยะๆ”
รวมถึงการทำสื่อเพื่อให้องค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเอชไอวีและวัณโรค โดยใช้ภาษาหลักของประชากรข้ามชาติ คุณฮักเมือง เล่าเสริมว่า “เรามีสื่อวิทยุชุมชน มีทั้งความบันเทิงและความรู้เกี่ยวกับสิทธิของแรงงานข้ามชาติ ตลอดจนมีการแจ้งข้อมูลข่าวสารต่างๆ ตรงนี้จึงเป็นอีกช่องทางในการรณรงค์และสื่อสารเกี่ยวกับเอชไอวีและวัณโรคไปยังกลุ่มประชากรข้ามชาติ”
โรคเอดส์และวัณโรค ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของสาธารณสุขไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขมียุทธศาสตร์ในการยุติวัณโรค มุ่งเป้าลดอัตราป่วยวัณโรคเหลือ 10 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2578 จะเป็นจริงได้หรือไม่ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม ประชาชน และองค์กรนานาชาติ ผนึกกำลังในการขจัดปัญหาที่ซุกไว้ใต้พรมมาอย่างเนิ่นนาน เพื่อสร้างการเข้าถึงกลุ่มประชากรข้ามชาติที่เสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรคพร้อมโน้มน้าวให้เข้ามารับการตรวจ เพื่อที่จะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาหรือป้องกันโรคให้อยู่ในระบบต่อไป