การระบาดของโควิด-19 ทำให้เด็กนักเรียนต้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ แต่จากการสำรวจของกระทรวงศึกษาธิการ พบว่ามีปัญหาหลักอยู่ 3 ส่วนด้วยกัน ประการแรกเด็กขาดอุปกรณ์ ประการที่สองความไม่พร้อมของคน ทั้งเด็กนักเรียนและผู้ปกครอง ส่วนประการที่สามเป็นเรื่องของงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์ ดังนั้น มูลนิธิศุภนิมิตฯ จึงได้ร่วมมือกับ ทีดีซีเอ็กซ์ ประเทศไทย ในนาม มูลนิธิทีดีซีเอ็กซ์ ริเริ่มโครงการนำร่อง Digitizing Library Program in Rural School ซึ่งเป็นโครงการที่ให้เด็กนักเรียนได้สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตมากขึ้น ด้วยการจัดหาทุนสำหรับแปลงโฉมห้องสมุดโรงเรียนในพื้นที่ชนบทให้เป็นห้องสมุดระบบดิจิทัล เพื่อเพิ่มทักษะการเรียนรู้ด้านดิจิทัลได้ดียิ่งขึ้น
คุณชัยทัศ จุลการ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ทีดีซีเอ็กซ์ ประเทศไทย กล่าวว่า การร่วมมือกับมูลนิธิศุภนิมิตฯ ในครั้งนี้ มูลนิธิทีดีซีเอ็กซ์ได้สนับสนุนทุนเพื่อแปลงโฉมห้องสมุดโรงเรียนในพื้นที่ชนบทของจังหวัดอุดรธานี ที่อยู่ในพื้นที่ดำเนินงานของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ให้เป็นระบบดิจิทัลเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมการเรียนรู้แบบดิจิทัล โดยห้องสมุดของโรงเรียนจะถูกติดตั้งอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ แล็ปท็อป และซอฟต์แวร์เพื่อการศึกษา ให้เด็กสามารถเข้าร่วมในโปรแกรมอีเลิร์นนิ่งต่างๆ ได้ เพื่อพัฒนาทักษะความรู้ด้านดิจิทัล ซึ่งถือเป็นโครงการแรกของมูลนิธิทีดีซีเอ็กซ์ในประเทศไทย หลังจากได้ก่อตั้งในเดือนตุลาคมเมื่อปีที่ผ่านมา สำหรับแผนในลำดับต่อไปคือส่งเสริมและให้การสนับสนุนการศึกษาของไทยในภาพรวม โดยเฉพาะการส่งเสริมและพัฒนาด้านดิจิทัลเป็นหลัก
ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาระบบห้องสมุดในพื้นที่ห่างไกลให้เป็นระบบดิจิทัล เพื่อให้เด็กนักเรียนและชาวบ้านในพื้นที่สามารถเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตอย่างไร้ข้อจำกัด โดยเริ่มที่ โรงเรียนภูพานวิทยา จังหวัดอุดรธานี เป็นแห่งแรก ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็กในชนบท ครัวเรือนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมขนาดเล็ก มีนักเรียนจำนวน 196 คน อาจารย์ 21 คน และมีประชากรในพื้นที่ 1,850 คน โรงเรียนมีห้องสมุดพร้อมหนังสืออ่านเสริมความรู้จำนวนน้อย ซึ่งส่วนใหญ่เก่าและไม่ได้รับการปรับปรุง ห้องสมุดไม่มีคอมพิวเตอร์ที่ช่วยให้นักเรียนสามารถค้นหาข้อมูลดิจิทัลและเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง โต๊ะและเก้าอี้ในห้องสมุดไม่ได้มาตรฐานตามหลักสรีรศาสตร์ อัตราการเข้าเรียนของนักเรียนต่ำ เนื่องจากโรงเรียนไม่สามารถจัดหาห้องสมุดที่มีสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่น่าสนใจ และสื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัยได้ การร่วมมือกับทีดีซีเอ็กซ์ ประเทศไทย ในครั้งนี้ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการแก้ไขข้อจำกัดทั้งหมดดังกล่าว
คุณอัญชลี ศิริพานิชวงศ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการเงินและบัญชี ทีดีซีเอ็กซ์ ประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะที่ทีดีซีเอ็กซ์ เป็นหนึ่งในผู้นำด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล เราเชื่อมั่นในพลังของเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น การเริ่มต้นโครงการห้องสมุดดิจิทัลนี้ มูลนิธิทีดีซีเอ็กซ์จะให้งบประมาณสนับสนุนโครงการนำร่องใน 3 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ ซึ่งจะเน้นในการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางดิจิทัลโดยเฉพาะ สำหรับโรงเรียนภูพาน จังหวัดอุดรธานี มูลนิธิทีดีซีเอ็กซ์ ได้มอบเงินทุนจำนวน 15,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อการเปลี่ยนแปลงให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี การเชื่อมต่ออุปกรณ์ไอที และทักษะที่จำเป็นในโลกดิจิทัล เพื่อให้เด็กนักเรียนในต่างจังหวัดได้มีศักยภาพด้านดิจิทัลเทียบเท่ากับเด็กในเมือง