งานพัฒนาเยาวชน ‘แตกต่างอย่างสร้างสรรค์’
“เยาวชนเป็นช่วงที่มีความท้าทาย มีความเปลี่ยนแปลง เมื่อนำมากระทบกับสถานการณ์ของประเทศไทย เราจะพบประเด็นความท้าทายไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของแอลกอฮอล์ ยาเสพติด เรื่องของความรุนแรง ภัยจากสื่อโซเชียลออนไลน์ต่างๆ ทบรวมกับความท้าทายในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมในช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 และความท้าทายใหม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเด็ก ทั้งหมดเกิดเป็นประเด็นที่ส่งผลสู่ความเปราะบางของเยาวชนในการพัฒนาตนเอง เราเห็นเด็กและเยาวชนจำนวนมากหลุดจากระบบการศึกษา เฉพาะประเด็นนี้ก็ส่งผลนำไปสู่การขาดโอกาสพัฒนาชีวิต ซึ่งหากเราไม่ลงมือทำอย่างจริงจัง ในที่สุดเยาวชนเปราะบางเหล่านี้ก็จะเติบโตเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งมีโอกาสที่จะต้องจมอยู่กับชีวิตที่ยากลำบาก”
นี่คือประโยคขึ้นต้นบทสนทนาของ คุณรัตนธิดา ประวัง ผู้จัดการฝ่ายวิชาการ งานพัฒนาชีวิตเยาวชน มูลนิธิศุภนิมิตฯ ที่ให้ภาพรวมความท้าทายของเยาวชนในปัจจุบัน
ปักหมุดงานพัฒนาเยาวชน ‘แตกต่างอย่างสร้างสรรค์’
“ภายใต้รูปแบบการดำเนินงานพัฒนาเยาวชน มูลนิธิศุภนิมิตฯ มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งภายในให้กับเยาวชนเปราะบาง และเยาวชนในชุมชนห่างไกล โดยมีกิจกรรมหลักที่สำคัญคือการพัฒนาทักษะชีวิต ทั้งการคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหา การเรียนรู้ที่จะสร้างความสัมพันธ์และอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ รวมถึงการพัฒนาจิตอาสา เสริมด้วยชุดฝึกประสบการณ์การค้นหาตัวตนเพื่อให้เยาวชนเปราะบางมีต้นทุนในการเผชิญความท้าทายที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล การพัฒนาทักษะอาชีพ ผ่านการฝึกอบรมทักษะอาชีพระยะสั้นตามที่เยาวชนสนใจ ซึ่งก็จะรวมถึงการสนับสนุนปัจจัยสำหรับเยาวชนนำไปประกอบอาชีพเสริมระหว่างเรียนด้วย”
เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ สร้างเวทีการมีส่วนร่วมของเยาวชน ด้วยงานการพัฒนาจิตอาสา
คุณรัตนธิดา ฉายภาพการพัฒนาจิตอาสาแก่เยาวชนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการดำเนินงานพัฒนาเยาวชนของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ว่า “ในส่วนของการพัฒนาจิตอาสาให้กับเยาวชนนั้น หลังจากที่เราบ่ม คือปลูกฝังและพัฒนาทักษะชีวิตต่างๆ ให้แก่เด็กและเยาวชน เรามีการประสานความร่วมมือกับสถานศึกษาของเด็กๆ และชุมชนที่เด็กและเยาวชนอาศัยอยู่ ผลักดันให้มีการร่วมตัวกันเป็นกลุ่มเยาวชน ซึ่งกลุ่มนี้จะได้รับการเติมความรู้และทักษะด้านการเป็นผู้นำ การแสดงออก การแก้ไขปัญหา การเขียนโครงการ รวมถึงได้เรียนรู้อย่างแท้จริงเกี่ยวกับคำว่าจิตอาสา เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่เขามีความเก่งอยู่ในตัวของเขาเอง เราเพียงแค่ต้องคอยผลักดันให้เขามีเวทีการแสดงออก แตกต่างได้ตามวัยความความติดของเด็กและเยาวชน เพียงแค่เราต้องแนะนำให้เด็กๆ ตระหนักถึงคำว่าสร้างสรรค์ด้วย”
แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ อวดผลงาน ‘โครงการที่ริเริ่มโดยเยาวชน’
“ในทุกการดำเนินงานพัฒนาของมูลนิธิศุภนิมิตฯ เราเปิดรับฟังเสียงของเด็กและเยาวชนทุกคน เรายังมีการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของเยาวชนในการริเริ่มสิ่งที่อยากจะแก้ไขประเด็นปัญหาของสังคม โดยเยาวชนจะได้พัฒนาและเรียนรู้ด้วยตนเองว่ารอบตัวของพวกเขามีอะไรที่เป็นประเด็นสำคัญ เป็นข้อท้าทาย เราทำหน้าที่เป็นกำแพง เป็นคนที่เฝ้าดูและให้ข้อแนะนำเมื่อเยาวชนต้องการคำปรึกษา การออกแบบไอเดีย การลงมือสร้างสรรค์โครงการต่างๆ เป็นสิ่งที่เยาวชนลงมือขับเคลื่อนเองทั้งหมด ในระหว่างการทำงานโครงการที่ริเริ่มโดยเยาวชนร่วมกับเพื่อนผู้นำเยาวชน รวมถึงร่วมกับผู้ใหญ่ จะเป็นอีกขั้นการพัฒนาที่เยาวชนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความแตกต่าง และการพัฒนาตนเองเพื่อที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ทั้งจิตอาสา ความสามารถในการยอมรับความแตกต่างได้อย่างสร้างสรรค์ เป็นต้นทุนสำคัญที่จะทำให้เยาวชนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ”
คุณรัตนธิดา ได้ยกตัวอย่างโครงการที่ริเริ่มโดยเยาวชนและได้มีการดำเนินงานจริงภายใต้การดำเนินงานของ ผู้นำเยาวชนศุภนิมิตฯ ในจังหวัดต่างๆ “ที่จังหวัดมุกดาหาร ผู้นำเยาวชนให้ความสนใจเกี่ยวกับปมความขัดแย้งในครอบครัวที่ส่งนำสู่การกระทำด้วยความรุนแรงต่อเด็ก และยังเป็นเหตุผลที่สำคัญที่ทำให้ลูกถอยห่างออกจากพ่อแม่แล้วไปให้ความสำคัญกับเพื่อน หรือใครก็ไม่รู้นอกบ้าน และตามที่เราเห็นในสื่อต่างๆ ว่ามีเด็กและเยาวชนจำนวนหนึ่งที่ก้าวข้ามไปสู่การเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ไม่ดีต่างๆ ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว เราเห็นเพื่อนเยาวชนถอยห่างออกจากพ่อแม่แล้วไปให้ความสำคัญกับเพื่อนหรือใครก็ไม่รู้นอกบ้าน น้องๆ กลุ่มนี้เคยเข้าร่วมกิจกรรมการอบรม ‘ครอบครัวสุขสันต์’ ของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ซึ่งมีเนื้อหามุ่งเน้นความสำคัญของครอบครัว ผ่านการกระทำที่แสดงออกถึงความรักระหว่างกัน กล้าที่จะขอโทษ และยอมรับที่จะให้อภัย ซึ่งกลุ่มผู้นำเยาวชนศุภนิมิตฯ มุกดาหาร ก็ได้ประสานความร่วมมือกับคุณหมอที่โรงพยาบาล และพี่เจ้าหน้าที่มูลนิธิศุภนิมิตฯ ให้มาช่วยเป็นวิทยากร ซึ่งในการอบรมก็ได้เให้ทั้งพ่อแม่และลูกมาอบรมด้วยกัน สิ่งที่ประทับใจที่สุดคือก่อนจะจบการอบรมพ่อแม่หลายคนบอกว่านี่เป็นครั้งแรกที่พ่อแม่ลูกได้กอดกัน ได้ขอโทษ ได้ให้อภัยกัน มันดีมากค่ะที่ได้เห็นภาพแบบนี้เกิดขึ้น เพราะสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นกับทุกครอบครัวคือ การที่ครอบครัวคือพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน”
อีกหนึ่งกิจกรรมที่ คุณรัตนธิดา ได้ยกตัวอย่างคือ โครงการพัฒนาฝายชะลอน้ำ ของกลุ่มผู้นำเยาวชนศุภนิมิตฯ จาก จ.แม่ฮ่องสอน
“โครงการพัฒนาฝายชะลอน้ำของผู้นำเยาวชนนี้สะท้อนให้เราเห็นถึงความตระหนักเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และผลกระทบด้านสิทธิที่เด็กและเยาวชนได้รับ และเมื่อมีโอกาสพวกเขาต้องการเปลี่ยนแปลงมัน โดยน้องๆ ผู้นำเยาวชนเลือกจัดกิจกรรมสร้างฝากตรงกับวันสำคัญ มีการขอการสนับสนุนจาก อบต. ผู้นำชุมชน และชาวบ้านในชุมชนด้วย ทำให้ในวันจัดงานมีคนมาช่วยกันทำฝายจำนวนมาก และงานก็เสร็จลุล่วงด้วยดี โครงการพัฒนาฝายชะลอน้ำนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ ที่บอกให้เรารู้ว่าถึงจะเป็นเพียงแต่เยาวชน แต่ถ้ากล้าที่จะแตกต่าง กล้าที่จะแสดงพลังของเยาวชนอย่างสร้างสรรค์ ผู้ใหญ่ทุกคนพร้อมที่จะให้การสนับสนุน”
ปัจจุบันมูลนิธิศุภนิมิตฯ มีเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 13-18 ปีใน ‘โครงการอุปการะเด็ก’ เกือบ 20,000คน คิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ของเด็กในโครงการอุปการะเด็ก จากการดำเนินงานภายใต้รูปแบบโครงการพัฒนาเยาวชน ในปี 2023 ที่มุ่งเน้นพัฒนาผู้นำเยาวชน และส่งเสริมให้ผู้นำเยาวชนดำเนินงานโครงการที่ริเริ่มโดยเยาวชน ทำให้มูลนิธิศุภนิมิตฯ สามารถเข้าถึงการพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และขยายผลการดำเนินงานพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลของประเทศได้มากถึง 63,800 คน
ท่ามกลางข้อท้าทายต่างๆ และบริบทความเปลี่ยนแปลงของสังคมทั้งระดับประเทศและระดับโลก เยาวชนทุกคนยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อโอกาสชีวิตของพวกเขา … การพัฒนาทักษะเยาวชน โดยมูลนิธิศุภนิมิตฯ ยังคงจะต้องก้าวต่อไป เพื่อความหวัง ความสุข และความยุติธรรม ของเด็กทุกคน
งานพัฒนาเยาวชน… งานที่ยังไม่จบเพียงเท่านี้