“ถ้าหนูไม่มีการศึกษา ชีวิตหนูก็จะเหมือนคนทั่วไปในชุมชนของหนู เมื่อเริ่มสาวก็แต่งงาน มีลูก ทำไร่ ทำนา หนูอยากมีชีวิตที่แตกต่าง หนูอยากเปลี่ยนแปลงให้ดีกว่าเดิม ถึงหนูไม่มีบัตร (ไม่มีสถานะทางทะเบียนเนื่องจากเป็นลูกของบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทย) แต่อย่างน้อยหนูก็มีโอกาสได้เรียนต่อจนถึงระดับปริญญาบัตร เป็นวุฒิการศึกษาที่ทำให้หนูมีโอกาสมากขึ้นในการทำงานหารายได้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว หนูขอขอบคุณท่านผู้บริจาคมากๆ ค่ะ สำหรับทุนโครงการส่งน้องจบ ป.ตรี ที่ท่านมอบให้หนู หนูยังภูมิใจมากที่ได้โอกาสทำงานในมูลนิธิศุภนิมิตฯ ทำให้หนูได้ช่วยเหลือเด็กที่ขาดโอกาสเช่นหนูในอดีต”
ชีวิตที่ไม่มีต้นทุนมันไม่น่ากลัวหรอก ชีวิตที่ไม่มีความพยายามต่างหากที่น่ากลัว
คำกล่าวชวนคิดที่แชร์ต่อๆ กันมาบนโลกออนไลน์ที่ดูเหมือนจะเป็นกระจกสะท้อนเรื่องราวชีวิตของ น.ส.น่อทูแอ้ หรือ แอ้ จาก อ.อุ้มผาง จ.ตาก ผู้หญิงใจแกร่งที่ใช้คำว่า ‘พยายาม’ นำชีวิตจนประสบความสำเร็จ
แอ้ เกิดมาในครอบครัวที่ยากลำบาก มีพี่น้องรวมกัน 5 คน พ่อแม่ของเธออพยพจากประเทศเพื่อนบ้านมาอาศัยอยู่บริเวณชุมชนชายแดนของ อ.อุ้มผาง จ.ตาก ทำกินด้วยการรับจ้างทั่วไป เพราะพ่อแม่ไม่มีสัญชาติไทย แอ้ จึงเกิดมาพร้อมกับสถานะไร้สัญชาติ สิ่งนี้ทำให้เธอและครอบครัวมีข้อจำกัดในการเข้าถึงโอกาสหลายๆ อย่างในชีวิต ทั้งโอกาสทางการศึกษา สิทธิ์ในการถือครองที่ดินทำกิน การเข้าถึงความช่วยเหลือสวัสดิการต่างๆ จากรัฐ รวมถึงโอกาสในการสอบเพื่อคัดเลือกเข้ารับราชการครู ซึ่งเป็นความฝันของเธอตั้งแต่เด็ก
“หนูมีความฝันมาแต่เด็กว่าอยากเป็นครู และเป็นคนแรกของหมู่บ้านที่ได้เรียนจบปริญญาตรี แต่เส้นทางตามฝันของหนูไม่ง่ายเลย ฐานะครอบครัวยากจนไม่มีเงินที่จะส่งเสีย หนูต้องพยายามให้ได้เรียนหนังสือ ต้องจากบ้านไปเป็นนักเรียนหอพักบ้านไกล หนูต้องทำงานเพื่อหารายได้ระหว่างเรียนเป็นเงินค่าขนมและของใช้จำเป็น เมื่อจบ ป.6 หนูได้ทำงานเป็นครูพี่เลี้ยง เป็นงานที่ทำให้หนูมีเงินเรียนจนสามารถจบระดับ ม.6 จาก กศน. ได้ และได้ทำงานเป็นครู กศน. ซึ่งระหว่างการทำงานหนูก็เรียนต่อระดับอนุปริญญาด้วยค่ะ หนูไม่ได้เก่งนะคะ แต่หนูเป็นคนไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา” แอ้ เล่าเส้นทางการเรียนของเธออย่างภูมิใจ
เส้นทางการศึกษาของเธอเหมือนจะเดินมาถึงปลายทาง เมื่อ แอ้ จบการศึกษาระดับอนุปริญญา สาขาพัฒนาเด็กปฐมวัย จากวิทยาลัยชุมชนตาก เธอได้กลับไปเป็นครูที่ รร.ตชด.หม่องก๊วะ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เธอเคยศึกษา ความพยายามพา แอ้ มาจนถึงวันที่คล้ายจะพึ่งพาตนเองและดูแลครอบครัวได้แล้ว แต่ฝันที่จะศึกษาต่อในระดับปริญญาตรียังคงอยู่ในใจ ทว่าก็ตระหนักดีว่าลำพังรายได้ในตอนนี้คงไม่มีเพียงพอที่ทำให้ฝันเป็นจริงขึ้นมาได้
แล้วข่าวดีก็มาถึง ในฐานะครู แอ้ ได้มีโอกาสสนับสนุนงานของมูลนิธิศุภนิมิตฯ มีความคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่ผู้เอื้อกระบวนการพัฒนาชุมชน โครงการพัฒนาฯ จ.ตาก พื้นที่ดำเนินงานอุ้มผาง ซึ่งทำงานพัฒนาเด็ก ครอบครัว และชุมชนที่เธออยู่ ข่าวเกี่ยวกับทุน ‘โครงการส่งน้องจบ ป.ตรี’ ซึ่งเป็นโครงการที่จะสนับสนุนให้เยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ดำเนินงานของมูลนิธิศุภนิมิตฯ แต่ยังขาดโอกาส สามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับปริญญาตรี ได้ถูกบอกเล่าให้เธอรับรู้ แอ้ ไม่รอช้าที่จะเริ่มเขียนจดหมายแนะนำตัวเอง และยื่นใบสมัครขอรับทุนการศึกษา
ปัจจุบัน แอ้ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจ สถาบันวิทยาการจัดการแห่งแปซิฟิค ด้วยทุนจาก โครงการส่งน้องจบ ป.ตรี ซึ่งมีผู้บริจาคสนับสนุนทุนผ่านมูลนิธิศุภนิมิตฯ การนำความรู้ที่ได้รับกลับไปพัฒนาชุมชนบ้านเกิด มอบโอกาสต่อไปถึงเด็กๆ คือเป้าหมายของเธอ หลังเรียนจบเธอได้สมัครเข้าทำงานรับใช้กับมูลนิธิศุภนิมิตฯ ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ผู้เอื้อกระบวนการพัฒนาชุมชน โครงการพัฒนาฯ จ.ตาก รับผิดชอบดูแลพื้นที่ดำเนินงานอุ้มผางซึ่งเป็นชุมชนบ้านเกิดของเธอ
“การได้รับโอกาสทำงานในมูลนิธิศุภนิมิตฯ เป็นอีกหนึ่งโอกาสของหนูในการให้ความช่วยเหลือเด็กในชุมชนยากไร้ ให้ได้รับการพัฒนาและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เหมือนที่หนูเคยได้รับโอกาสนั้นมา แม้ข้อจำกัดที่เป็นบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนจะทำให้ขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การตรวจประวัติ การติดต่อขออนุญาตทำงาน การเปิดบัญชีธนาคาร เป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่หนูก็ได้รับความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกต่างๆ จากทุกคนที่เกี่ยวข้องในมูลนิธิศุภนิมิตฯ เป็นอย่างดีค่ะ ยิ่งทำให้หนูเข้าใจความหมายของคำว่าโอกาส ความหวัง ที่มูลนิธิศุภนิมิตฯ ตั้งใจจะมอบให้กับเด็กเปราะบางยากไร้มากยิ่งขึ้นค่ะ”
น่อทูแอ้ กล่าวทิ้งท้ายว่า “หนูและครอบครัวขอขอบคุณท่านผู้บริจาคมากๆ ค่ะ สำหรับโอกาสที่หนูได้รับ ท่านทำให้ความฝันของหนูและครอบครัวเป็นจริง หนูทั้งดีใจ ภูมิใจ และซึ้งใจอย่างบอกไม่ถูก และหนูยังภูมิใจมากที่ได้โอกาสทำงานในมูลนิธิศุภนิมิตฯ ทำให้หนูได้ช่วยเหลือเด็กที่ขาดโอกาสเช่นหนูในอดีต หนูจะตั้งใจทำให้ดีที่สุด เพื่อเด็ก ครอบครัว ในชุมชนที่หนูอาศัยอยู่จะได้รับการพัฒนา และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นค่ะ”