ในเดือนกันยายนจะมีวันสำคัญเกี่ยวข้องกับเยาวชน ‘วันเยาวชนแห่งชาติ’ (20 กันยายนของทุกปี) มูลนิธิศุภนิมิตฯ ในฐานะองค์กรคริสเตียนเพื่อการพัฒนาและสาธารณกุศล โดยมีเด็กเป็นหัวใจหลักในการทำงาน และมีการขับเคลื่อนงานการพัฒนาเยาวชนเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การดำเนินงาน ได้จัดงาน ‘Youth Forum 2023 – แตกต่างอย่างสร้างสรรค์’ ขึ้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม – 1 กันยายน 2023 ที่ผ่านมา โดยเป็นการรวมพลผู้นำเยาวชนศุภนิมิตฯ จากพื้นที่ดำเนินงานพัฒนาของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ทั่วประเทศ มาอวดผลการขับเคลื่อนกิจกรรมเยาวชนและผลการดำเนินงานของผู้นำเยาวชนศุภนิมิตฯ พร้อมแลกเปลี่ยนและทบทวนเพื่อร่วมกันวางทิศทางสำหรับขับเคลื่อนกิจกรรมพัฒนาเยาวชนสร้างสรรค์ในปีต่อๆ ไป
ปักหมุดงานพัฒนาเยาวชน ‘แตกต่างอย่างสร้างสรรค์’
“เยาวชนเป็นช่วงที่มีความท้าทาย มีความเปลี่ยนแปลง เมื่อนำมากระทบกับสถานการณ์ของประเทศไทย เราจะพบประเด็นความท้าทายไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของแอลกอฮอล์ ยาเสพติด เรื่องของความรุนแรง ภัยจากสื่อโซเชียลออนไลน์ต่างๆ ทบรวมกับความท้าทายทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมในช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 เกิดเป็นประเด็นที่ส่งผลสู่ความเปราะบางของเยาวชนในการพัฒนาตนเอง เราเห็นเด็กและเยาวชนจำนวนมากหลุดจากระบบการศึกษา เฉพาะประเด็นนี้ก็ส่งผลนำไปสู่การขาดโอกาสพัฒนาชีวิต ซึ่งหากเราไม่ลงมือทำอย่างจริงจัง ในที่สุดเยาวชนเปราะบางเหล่านี้ก็จะเติบโตเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งมีโอกาสที่จะต้องจมอยู่กับชีวิตที่ยากลำบาก” คุณรัตนธิดา ประวัง ผู้จัดการฝ่ายวิชาการ งานพัฒนาชีวิตเยาวชน มูลนิธิศุภนิมิตฯ ให้ภาพรวมความท้าทายของเยาวชนในปัจจุบัน
ภายใต้ รูปแบบการดำเนินงานพัฒนาเยาวชน มูลนิธิศุภนิมิตฯ มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งภายในให้กับเยาวชนเปราะบาง และเยาวชนในชุมชนห่างไกล โดยมีกิจกรรมหลักที่สำคัญคือ การพัฒนาทักษะชีวิต ทั้งการคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหา การเรียนรู้ที่จะสร้างความสัมพันธ์และอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ รวมถึงการพัฒนาจิตอาสา เสริมด้วยชุดฝึกประสบการณ์การค้นหาตัวตนเพื่อให้เยาวชนเปราะบางมีต้นทุนในการเผชิญความท้าทายที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล การพัฒนาทักษะอาชีพ ผ่านการฝึกอบรมทักษะอาชีพระยะสั้นตามที่เยาวชนสนใจ ซึ่งก็จะรวมถึงการสนับสนุนปัจจัยสำหรับเยาวชนนำไปประกอบอาชีพเสริมระหว่างเรียนด้วย
คุณรัตนธิดา ฉายภาพการพัฒนาจิตอาสาแก่เยาวชนว่า “ในส่วนของการพัฒนาจิตอาสาให้กับเยาวชนนั้น เรามีการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของเยาวชนในการริเริ่มสิ่งที่อยากจะแก้ไขประเด็นปัญหาของสังคม โดยเยาวชนจะได้พัฒนาและเรียนรู้ด้วยตนเองว่ารอบตัวของพวกเขามีอะไรที่เป็นประเด็นสำคัญ เป็นข้อท้าทาย เราทำหน้าที่เป็นกำแพง เป็นคนที่เฝ้าดูและให้ข้อแนะนำเมื่อเยาวชนต้องการคำปรึกษา การออกแบบไอเดีย การลงมือสร้างสรรค์โครงการต่างๆ เป็นสิ่งที่เยาวชนลงมือขับเคลื่อนเองทั้งหมด ในระหว่างการทำงานโครงการที่ริเริ่มโดยเยาวชนร่วมกับเพื่อนผู้นำเยาวชน รวมถึงร่วมกับผู้ใหญ่ จะเป็นอีกขั้นการพัฒนาที่เยาวชนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความแตกต่าง และการพัฒนาตนเองเพื่อที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ทั้งจิตอาสา ความสามารถในการยอมรับความแตกต่างได้อย่างสร้างสรรค์ เป็นต้นทุนสำคัญที่จะทำให้เยาวชนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ”
แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ อวดผลงาน ‘โครงการที่ริเริ่มโดยเยาวชน’
กนกวรรณ อายุ 17 ปี และ วัชราพร อายุ 18 ปี ผู้นำเยาวชนศุภนิมิตฯ จาก อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร อวดผลงานโครงการที่ริเริ่มโดยเยาวชนที่พวกเธอร่วมกับเพื่อนๆ ได้สร้างสรรค์ตลอดปีที่ผ่านมา “สิ่งที่พวกเราต้องการเปลี่ยนแปลงคือปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว เราเห็นเพื่อนเยาวชนถอยห่างออกจากพ่อแม่แล้วไปให้ความสำคัญกับเพื่อนหรือใครก็ไม่รู้นอกบ้าน ซึ่งหลายคนก็ก้าวข้ามไปสู่การเกี่ยวข้องกับสิ่งไม่ดีต่างๆ เราแก้ไขด้วยการจัดกิจกรรมอบรมเรื่องครอบครัวสุขสันต์ ตอนที่เราไปอบรมทักษะชีวิตเยาวชนเราเห็นประโยชน์ของการที่ครอบครัวเห็นความสำคัญ แสดงออกถึงความรักระหว่างกัน กล้าที่จะขอโทษ และยอมรับที่จะให้อภัย เราได้รับการสนับสนุนจากคุณหมอที่โรงพยาบาล และพี่เจ้าหน้าที่มูลนิธิศุภนิมิตฯ มาช่วยเป็นวิทยากร ในการอบรมเราให้ทั้งพ่อแม่และลูกมาอบรมด้วยกัน สิ่งที่ประทับใจที่สุดคือก่อนจะจบการอบรมพ่อแม่หลายคนบอกกับพวกเราว่านี่เป็นครั้งแรกที่พ่อแม่ลูกได้กอดกัน ได้ขอโทษ ได้ให้อภัยกัน มันดีมากค่ะที่ได้เห็นภาพแบบนี้เกิดขึ้น สำหรับพวกเรา ครอบครัวคือพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน”
อีกหนึ่งกิจกรรมที่อยากยกตัวอย่างคือ โครงการพัฒนาฝายชะลอน้ำ ของกลุ่มผู้นำเยาวชนศุภนิมิตฯ จาก จ.แม่ฮ่องสอน โครงการนี้สะท้อนให้เราเห็นถึงความตระหนักเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และผลกระทบด้านสิทธิที่เด็กและเยาวชนได้รับ และเมื่อมีโอกาสพวกเขาต้องการเปลี่ยนแปลงมัน
“เหตุผลที่เราเลือกทำฝายชะลอน้ำเนื่องจากในหมู่บ้านของหนูเนี่ยเป็นหมู่บ้านเล็กในป่าใหญ่ มีห้วยเสือเฒ่าไหลผ่าน ห้วยเสือเฒ่าก็จะเป็นเหมือนต้นน้ำ ในป่าที่เป็นต้นน้ำ แต่เพราะป่าบนเขามันถูกรุกรานจนต้นไม้ที่ทำหน้าที่ชะลอน้ำมันทำหน้าที่ไม่ได้แล้ว เวลาหน้าฝนจะมีน้ำป่ารุนแรง ทำให้เราไม่สามารถออกจากหมู่บ้านได้ ไปโรงเรียนก็ไม่ได้ พ่อแม่จะทำมาหากินก็ไม่ได้ ไหนจะอันตรายอีก ส่วนในหน้าแล้งเราจะไม่มีน้ำใช้ ห้วยเสือเฒ่าจะแห้ง น้ำที่พอจะมีบ้างก็จะสกปรก อันนี้ก็เกิดจากเหตุผลเดียวกันค่ะ ต้นไม้ที่ทำหน้าที่ซึมซับน้ำไว้มันไม่เหลือไงค่ะ ก็เลยไม่เหลือน้ำพอจะหล่อเลี้ยงห้วยได้ พวกเราก็เลยจัดทำฝายชะลอน้ำขึ้นค่ะ ชะลอน้ำไม่ให้ไหลแรงในฤดูฝน และเป็นฝายกักเก็บน้ำให้คงเหลืออยู่จนถึงหน้าแล้งด้วย เรายังไม่มีประสบการณ์ในด้านนี้ แต่พี่เจ้าหน้าที่มูลนิธิศุภนิมิตฯ ก็คอยช่วยเหลือสนับสนุนเรา พวกเราจัดกิจกรรมตรงกับวันสำคัญ ขอการสนับสนุนจาก อบต. และผู้นำชุมชน วันงานมีคนมาช่วยกันทำฝายเต็มเลย ดีใจมาก ถึงแม้ว่าพวกเราจะยังเป็นเด็ก แต่ทุกคนไม่มองแบบนั้น ทุกคนให้การสนับสนุนเรา รับฟังพวกเราที่เป็นเด็ก” วนิดา อายุ 15 ปี ผู้นำเยาวชนศุภนิมิตฯ จาก จ.แม่ฮ่องสอน
งานพัฒนาเยาวชน… งานที่ยังไม่จบเพียงเท่านี้
การเปิดรับฟังเสียงจากเยาวชนคืออีกหนึ่งกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานพัฒนาเยาวชนของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ‘Youth Forum 2023 – แตกต่างอย่างสร้างสรรค์’ ใช้โอกาสที่ผู้นำเยาวชนศุภนิมิตฯ จากทั่วประเทศมารวมตัวกันนี้ จัดกิจกรรมระดมสมองให้ผู้นำเยาวชนศุภนิมิตฯ แลกเปลี่ยนในประเด็น ข้อท้าทายและอยากได้รับการพัฒนาทักษะอะไรเพื่อให้แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ และเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมและนี่คือเสียงจากพวกเขา และเราทุกคนในมูลนิธิศุภนิมิตฯ จะนำไปสานต่อสู่กิจกรรมเพื่อการพัฒนาเยาวชนต่อไป
“ไม่มั่นใจในภาษาท้องถิ่น ไม่มีทักษะเพียงพอในการแสดงออกต่อที่สาธารณะ พวกเราหลายคนยังไม่กล้าพูด ไม่กล้าทำ รวมถึงพวกเรายังขาดพื้นที่ในการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเพียงพอ ผู้ใหญ่บางคนไม่เชื่อมั่นในตัวเราเพราะเห็นว่าเราเป็นเด็ก ในการทำกิจกรรมต่างๆ เราประสบปัญหาในการทำให้คนสนใจมาเข้าร่วมกิจกรรม และบางครั้งเราคาดหวังสูงๆ จนเกิดเป็นความกดดัน เราต้องหาวิธีในการรับมือกับคนหลายประเภทที่แตกต่างกัน บางครั้งเราก็ไม่คุ้นชินกับคนใหม่ๆ หรือสถานที่ใหม่ๆ การทำกิจกรรมกับเพื่อนรุ่นเดียวกันทำให้บางครั้งเพื่อนๆ ขาดความเกรงใจพวกเรากันเอง” ศศิกานต์ ผู้นำเยาวชนจาก จ.บึงโขงหลง เป็นตัวแทนนำเสนอเกี่ยวกับข้อท้าทายในฐานะผู้นำเยาวชนศุภนิมิตฯ
ส่วน ตะวัน อายุ 16 ปี ผู้นำเยาวชนจาก จ.พังงา เป็นตัวแทนนำเสนอประเด็นทักษะที่เยาวชนต้องการได้รับการพัฒนาเพื่อปลดล็อกตัวเองจากข้อท้าทายต่างๆ “การพัฒนาทักษะผู้นำ สิ่งที่ผู้นำควรจะมี ทักษะแรกเลยก็คือทักษะสื่อสารครับ การสื่อสารถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าเกิดเราสื่อสารผิดผู้รับสารอาจจะเข้าใจผิดได้ ในขณะเดียวกันทักษะในการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นก็สำคัญเช่นเดียวกันด้วย ผู้นำควรจะมีบุคลิกภาพที่ดี สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสมาชิกในกลุ่มนะครับ ต่อไปคือทักษะการคิดสร้างสรรค์ คิดบวก รวมถึงเรื่องทักษะการวางแผน ทั้งแผนหลักและแผนสำรอง ทักษะต่อไปก็คือความมุ่งมั่นในการทำงาน การนำกระบวนการ การประสานงานและการจัดหาทุนสนับสนุน ทักษะในการรวบรวมทีมงานที่มีคุณภาพในบทบาทที่เหมาะสมกับงานแต่ละอย่าง และที่สำคัญที่สุดคือทักษะการจัดการอารมณ์ด้วยครับ”
ปัจจุบันมูลนิธิศุภนิมิตฯ มีเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 13-18 ปีใน ‘โครงการอุปการะเด็ก’ เกือบ 20,000คน คิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ของเด็กในโครงการอุปการะเด็ก จากการดำเนินงานภายใต้รูปแบบโครงการพัฒนาเยาวชน ในปี 2023 ที่มุ่งเน้นพัฒนาผู้นำเยาวชน และส่งเสริมให้ผู้นำเยาวชนดำเนินงานโครงการที่ริเริ่มโดยเยาวชน ทำให้มูลนิธิศุภนิมิตฯ สามารถเข้าถึงการพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และขยายผลการดำเนินงานพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลของประเทศได้มากถึง 63,800 คน
ท่ามกลางข้อท้าทายต่างๆ และบริบทความเปลี่ยนแปลงของสังคมทั้งระดับประเทศและระดับโลก เยาวชนทุกคนยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อโอกาสชีวิตของพวกเขา … การพัฒนาทักษะเยาวชน โดยมูลนิธิศุภนิมิตฯ ยังคงจะต้องก้าวต่อไป เพื่อความหวัง ความสุข และความยุติธรรม ของเด็กทุกคน