เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย โดย คุณหลินฟ้า อุปัชฌาย์ ผู้จัดการทุนด้านผู้หญิงและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการโยกย้ายถิ่นฐาน ได้เป็นตัวแทนในการรับมอบโล่หน่วยงานดีเด่น หน่วยงานสนับสนุนภารกิจด้านการป้องกันควบคุมโรคระหว่างประเทศ และประชากรข้ามชาติในประเทศไทย จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
นอกจากจุดมุ่งเน้นในการช่วยเหลือเด็กในภาวะเปราะบางยากไร้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว มูลนิธิศุภนิมิตฯ โดยการสนับสนุนจากแหล่งทุนทั้งในและต่างประเทศ ยังมุ่งเน้นพันธกิจเสริมสร้างบริการระบบสาธารณสุขเพื่อให้กลุ่มประชากรข้ามชาติในประเทศไทยเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ควบคุม และป้องกันโรค รวมถึงการสนับสนุนให้กลุ่มประชากรข้ามชาติในประเทศไทยได้รับการคุ้มครองสิทธิตามหลักสิทธิมนุษยชน ต่อต้านการค้ามนุษย์ และการส่งเสริมการศึกษาสำหรับเด็กที่เป็นกลุ่มประชากรข้ามชาติด้วย ทั้งนี้โดยมีโครงการและผลการดำเนินงานที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น
โครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ ด้วยชุดบริการ RRTTPR
มูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนโลก มาตั้งแต่ปี 2003 ในการดำเนินงานโครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ โดยดำเนินงานในกลุ่มประชากรข้ามชาติ ให้ทุกคนมีสิทธิ์ในการเข้าถึงบริการข้อมูล การป้องกัน ตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษา รวมถึงการสนับสนุนและช่วยเหลือ การรณรงค์ให้ทุกคนมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อโดยไม่ตีตราหรือเลือกปฏิบัติ ปัจจุบันโครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ฯ ดำเนินงานใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี เชียงราย ตาก ระนอง และภูเก็ต
ระบบการส่งผู้ป่วยข้ามแดนระหว่างประเทศ และการติดตามผู้ป่วย
มูลนิธิศุภนิมิตฯ ภายใต้การสนับสนุนจาก กองทุนโลก ได้ร่วมกับ มูลนิธิเอดส์ เฮลท์ แคร์ (ประเทศไทย) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนอง และ Ministry of Health and sports โรงพยาบาลเกาะสอง ประเทศเมียนมา ร่วมพัฒนากลไกและความร่วมมือด้านสาธารณสุขในการดูแลและการส่งต่อผู้ป่วยวัณโรค ผู้มีเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ และมาลาเรีย ระหว่างประเทศบริเวณชายแดนจังหวัดระนอง ประเทศไทย และเกาะสอง ประเทศเมียนมา เพื่อให้กลุ่มประชากรข้ามชาติสามารถเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพ ได้รับการดูแล ทั้งเฝ้าระวัง นำส่งสู่การรักษาพยาบาล การติดตามการรักษา รวมถึงการส่งตัวกลับสู่ประเทศต้นทางในกรณีที่ผู้ป่วยแจ้งความประสงค์ ซึ่งจะส่งผลสู่การควบคุม ป้องกัน การร่วมกันแก้ไขปัญหาโรคติดต่อสำคัญให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไปด้วย
‘วัคซีน COVID-19’ สิทธิพื้นฐานด้านสุขภาพแรงงานข้ามชาติ
แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงสิทธิด้านสุขภาพในช่วงวิกฤต COVID-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เปิดให้เห็นถึงบาดแผลในสังคมเกี่ยวกับปัญหาสิทธิพื้นฐานของแรงงานข้ามชาติประเทศไทยซึ่งมีแรงงานข้ามชาติอยู่ประมาณ 5 ล้านคน แต่ประมาณการณ์ว่ามีเพียง 24% เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงและได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ครบ 2 เข็ม … แรงงานข้ามชาติทุกคนควรเข้าถึงสิทธิพื้นฐานด้านสุขภาพ
ในวิกฤต COVID-19 มูลนิธิศุภนิมิตฯ โดยการสนับสนุนจาก องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO Thailand) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) กระทรวงสาธารณสุข และองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ สนับสนุนให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงบริการวัคซีนกว่า 100,000 คน
โรงพยาบาลสนาม จ.ระนอง
มูลนิธิศุภนิมิตฯ โดยการสนับสนุนจาก องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ได้ทำงานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ค้นหาผู้ป่วย COVID-19 เชิงรุก (Active Case Finding) ในชุมชนประชากรข้ามชาติ คัดกรองอาการสงสัย และส่งต่อผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) ซึ่งจำเป็นต้องกักตัวที่โรงพยาบาลสนาม
สำหรับที่จังหวัดระนอง มูลนิธิศุภนิมิตฯ ร่วมกับ จังหวัดระนอง โรงพยาบาลระนอง เทศบาลเมืองบางริ้น จัดตั้ง โรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยประชากรข้ามชาติที่ได้รับเชื้อ COVID-19 จำนวน 5 แห่ง พร้อมร่วมสนับสนุนเจ้าหน้าที่มูลนิธิศุภนิมิตฯ และอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างชาติ ร่วมทำหน้าที่สื่อสารกับผู้ป่วย และมีการบริการรักษาทั้งการรับผู้ป่วยรายใหม่ การส่งอาหาร การแจ้งอาการผู้ป่วยที่ฉุกเฉิน
อาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างชาติ
มากกว่า 20 ปีแล้วสำหรับการทำงานของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ในการส่งเสริมสิทธิ สร้างสุขภาวะ ป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ ในกลุ่มเด็กและประชากรข้ามชาติ เราตระหนักดีว่ากำแพงด้านภาษาเป็นอุปสรรคที่สำคัญ เราเห็นโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ต้องการความช่วยเหลือได้มากขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นของ การขับเคลื่อนการสร้างเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างชาติ
ปัจจุบันมีเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างชาติมากว่า 300 คน ใน 11 พื้นที่ทำงาน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐม สระแก้ว เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก ระนอง และภูเก็ต
ทั้งนี้ ในปี 2022 ที่ผ่านมา มูลนิธิศุภนิมิตฯ สามารถสนับสนุนประชากรข้ามชาติกว่า 152,000 คน ผ่านงานตอบสนองและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โครงการยุติปัญหาเอชไอวี/เอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และการต่อต้านการค้ามนุษย์ และยังสนับสนุนให้เด็กข้ามชาติกว่า 3,000 คนได้รับโอกาสด้านการศึกษา สุขภาพอนามัย รวมถึงการจดทะเบียนแจ้งเกิดด้วย