อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ความเห็นทั่วไปข้อ 26 (General Comment No.26) ระบุว่า สิทธิเด็กมีความเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เด็กมีสิทธิในการเข้าถึงสภาพแวดล้อมที่สะอาด ถูกสุขอนามัย และยั่งยืน ซึ่งหมายถึงสิทธิในการเข้าถึงอากาศบริสุทธิ์ ระบบนิเวศที่สมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพ น้ำดื่มที่ปลอดภัย ถูกสุขอนามัย และเพียงพอ ความมั่นคงทางอาหาร และสิ่งแวดล้อมที่ปราศจากมลพิษ รัฐต้องรับผิดชอบ ไม่เพียงแต่การปกป้องสิทธิเด็กจากอันตรายที่เกิดขึ้นในทันที แต่ยังรวมถึงการละเมิดสิทธิเด็กที่มีความเสี่ยงต่อเด็กและเยาวชนในอนาคตด้วย ซึ่งอาจเกิดจากการกระทำหรือการละเลยของทุกภาคส่วน
พร้อมๆ กับการเปิดตัวเอกสารอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ความเห็นทั่วไปข้อ 26 อย่างเป็นทางการ ของคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Committee on the Rights of the Child) ในการประชุม The Global Launch of General Comment No.26 ที่กรุงเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ ในวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคี 196 ประเทศที่ได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดย กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับภาคประชาสังคม ได้แก่ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย, เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย, Terre des hommes Germany, องค์การช่วยเหลือเด็กประเทศไทย, มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก, เครือข่ายสิทธิเด็กล้านนา, มูลนิธิรักษ์เด็ก และ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ได้ร่วมตัวกันในวาระพิเศษนี้เพื่อ ร่วมแสดงเจตนารมณ์ความร่วมมือการทำงานร่วมกัน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ความเห็นทั่วไป ข้อ 26 ว่าด้วยสิทธิเด็กและสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขึ้น ณ ห้องประชุมกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “ด้วยเป้าหมายที่สอดคล้องกับหลายประเทศทั่วโลกในการปกป้องพร้อมส่งเสริมสิทธิของเด็กและเยาวชน ผ่านการประสานความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อสร้างการรับรู้ สร้างความตระหนักเกี่ยวกับสิทธิเด็กและสิ่งแวดล้อม และร่วมเฉลิมฉลองการเปิดตัวความเห็นทั่วไป ข้อที่ 26 ว่าด้วยสิทธิเด็กและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้จัดขึ้นพร้อมๆ กันทั่วโลกด้วย”
ทั้งนี้ จาก รานงานสรุปวิกฤติสภาพภูมิอากาศ คือวิกฤติสิทธิเด็ก โดย องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาติ (ยูนิเซฟ) ระบุว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 9 ของประเทศที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และ เด็กไทยอยู่ในอันดับที่ 50 จาก 163 ประเทศทั่วโลกตามดัชนีความเสี่ยงต่อสภาพภูมิอากาศของเด็ก
นางสาววาสนา เก้านพรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก และประธานเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย กล่าวในการร่วมแสดงเจตนารมณ์ฯ ว่า “ในฐานะที่เราต่างก็เป็นหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับเด็ก และสิทธิเด็ก ปัญหาสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อสิทธิของเด็กในทุกๆ ด้าน มาตรฐานการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่ของเด็ก สุขภาพ ความเจ็บป่วย และมาตรฐานสาธารณสุข รวมถึงเรื่องความรุนแรงต่อเด็กด้วย ซึ่งในวันนี้เป็นโอกาสอันดีมากที่ทั้งในระดับภาครัฐ โดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และภาคประชาสังคมหลายองค์กรได้มาแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการร่วมดำเนินงานเพื่อสนับสนุนอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ความคิดเห็นทั่วไป ข้อที่ 26 ว่าด้วยสิทธิเด็กและสิ่งแวดล้อม”
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลตรงถึงเด็กทุกคน ในทุกช่วงวัย “สิ่งแรกที่เราจะต้องร่วมกันคือ การสื่อสารทำความเข้าใจเกี่ยวกับบริบทความเปลี่ยนแปลงที่เป็นความเสี่ยงต่อเด็ก เราต้องลงมือทำไปพร้อมๆ กัน ภาครัฐขับเคลื่อนในระดับนโยบายลงไปสู่การปฏิบัติ รวมถึงภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ซึ่งก็จะต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กันภายใต้กรอบทิศทางที่ชัดเจน” ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตฯ กล่าว
นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้กล่าวยืนยันว่า “กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบด้านคุณภาพชีวิตของคนทุกช่วงวัย มีความพร้อมและความตั้งใจที่จะทำงานกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนงานด้านสิทธิเด็ก โดยเฉพาะประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่หลายหน่วยงานได้มาร่วมกันในวันนี้ ไม่เพียงเฉพาะกลุ่มเด็กเพียงกลุ่มเป้าหมายเดียว แต่เราหมายรวมถึงบุคคลแวดล้อมทุกคนของเด็ก ทั้งครอบครัว เครือญาติ ชุมชน และสังคม ซึ่งแน่นอนว่าเราจะมีการขับเคลื่อนร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป”